วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สัมมนาการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

                 
      มีการจัดสัมมนาของรุ่นพี่ปี4เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ




ดูแลด้วยความรักและห่วงใย

   ลูกหลานจะต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อคนสูงอายุไม่คิดว่าท่านเป็นภาระ  หากแต่เป็นบุคคลที่ครวเคารพรัก  ต้องหาความรู้หรือรับรู้การฝึกอบรมความรู้ความชำนาญในการปฐมพยาบาลและเรื่องการปรับตัวเข้าหาผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้ที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุมีการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสถานการณ์ผู้สูงอายุ ความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายจิตใจ การเตรียมพร้อมด้านสุขภาพ การวางแผนเงินออม ตลอดจนการปรับตัวในการดำเนินชีวิตในครอบครัวและสังคม อย่างมีความสุขเพื่อสร้างความตระหนักแก่ภาคส่วนต่างๆในการเตรียมความพร้อมประชากร เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และ ไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวัยที่มีภาวะพึ่งพิงคนอื่นในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการณ์ว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.3 ในปี 2563 ซึ่งหมายความว่า อัตราส่วนของวัยแรงงานต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุที่เข้าสู่ภาวะพึ่งพิง” สูงขึ้นอีกนอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี โดยในปี พ.ศ. 2552 ประมาณการว่ามีผู้สูงอายุถึง 140,000 คน ที่เจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง และจะเพิ่มเป็นสองเท่าในอีก 15 ปีข้างหน้าใน ขณะที่วัยทำงานซึ่งเป็นวัยที่ช่วยเหลือกลับลดลงตามกาลเวลา ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา ผู้สูงอายุเหล่านั้นจึงต้องพึ่งพิงบุตรหลาน ตลอดจนความช่วยเหลือจากรัฐ และหากความช่วยเหลือจากรัฐนั้นต้องมาจากภาษีของประชากรวัยทำงาน ในอนาคตอันใกล้นี้ภาระแบกรับเหล่านี้จะกลายเป็นภาระที่หนักมากสำหรับประชากรวัยทำงาน และจะกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยในอนาคต
ทางออกของปัญหา คือ 1) ภาครัฐ ต้องมีการจัดเตรียมระบบการดูแลผู้สูงอายุ หรือรัฐสวัสดิการต่างๆ จึงเป็นมาตรการจำเป็นที่หลายๆ ประเทศต้องเริ่มมีการวางแผนเพื่อเตรียมการในการป้องกันและให้เพียงพอ เพื่อเป็นการวางระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการมีแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนในการส่งเสริมสนับสนุนการมีงานทำที่สอดคล้องกับสมรรถนะของผู้สูงอายุ เพื่อสร้างรายได้แก่ผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิศรี หรือการขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ การเตรียมความพร้อมด้านบริการสาธารณะสุข เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการอย่างทั่วถึง รวมถึง สวัสดิการต่างๆ เพื่อรองรับผู้สูงอายุ อย่างสถานสงเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันยังพบว่าสถานสงเคราะห์คนชราส่วนใหญ่ขาดแคลนบุคลากรเฉพาะด้าน เช่น พยาบาล นักกายภาพบำบัด จึงไม่มีศักยภาพเพียงพอในการรองรับบริการดังกล่าว
นอกจากนี้ 2) คนในสังคมต้องมีการเตรียมความพร้อมของตนเองก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะสูงวัย ทั้งการเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจการเงิน ที่อยู่อาศัย รวมถึงสุขภาพ หากแต่ที่สำคัญคือจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2550 กลับพบว่าผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 43 หรือเกือบครึ่ง ที่ไม่ได้เตรียมการเพื่อยามสูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพกาย ด้านการศึกษาธรรมะหรือเข้าหาศาสนา การเตรียมตัวด้านที่อยู่อาศัย หลักประกันด้านการเงิน ส่งผลให้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยต้องตกอยู่ในภาวะยากจน และลำบากเมื่อเข้าสู่ภาวะสูงวัย
แต่เมื่อย้อนมองถึงภาวะประชากรในปัจจุบัน ที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต (อายุ 15-39 ปีและ 40-59 ปีในปัจจุบัน) เป็นที่น่าดีใจที่พบว่า ผู้จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคตมีการเตรียมตัวมากกว่าผู้สูงอายุรุ่นปัจจุบัน ทั้งการเตรียมการด้านเศรษฐกิจหรือการเงินและสุขภาพ แต่การเตรียมตัวเข้าหาศาสนาหรือศึกษาธรรมะยังคงมีอยู่น้อย เนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่เน้นความสำเร็จในเชิงวัตถุ ทำให้ประชากรคำนึงถึงเรื่องเงินทองมากกว่าเรื่องจิตใจหรือธรรมะ
ทั้งนี้ ประเด็นที่ยังคงน่าเป็นห่วงคือ ประชากรไทยมีการเตรียมการเพื่อยามสูงวัยค่อนข้างช้า หรือเตรียมตัวเมื่ออายุค่อนข้างมาก ผลการสำรวจประชากรอายุระหว่าง 18-59 ปี พบว่าส่วนใหญ่เห็นว่าควรเตรียมการเพื่อยามสูงวัยเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ในขณะที่ผลการสำรวจประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ตอบว่าได้เตรียมการเพื่อยามสูงวัยเมื่ออายุประมาณ 50 ปี
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้การเตรียมความพร้อมเพื่อยามสูงวัยของประชากรไทยในระดับบุคคลมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะมีการเตรียมตัวเพียงบางมิติและยังมีความล่าช้า ทั้งที่ในหลายเรื่องควรจะเตรียมตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยเริ่มทำงาน เช่น การออมควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้มีวินัยและติดเป็นนิสัย แต่ที่ผ่านมาพบว่าประชากรไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ในด้านสุขภาพเช่นกัน ความใส่ใจสุขภาพควรเริ่มตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่เมื่อสูงอายุ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้เสื่อมถอยลงจนอาจสายเกินไปที่จะฟื้นฟู หรือเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพเท่านั้น การเตรียมตัวนั้นควรเตรียมตัวในทุกมิติ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้มากและนานที่สุดทั้งในด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ การอยู่อาศัย และการเงิน
คำว่าผู้สูงอายุ จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอีกต่อไป ซึ่งทุกคนควรต้องทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการรับมือก่อนที่สังคมไทยและสังคมโลกจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคต
     

                    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น